คณะผู้แทนไทยมาศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ ประเทศเบลเยียม

คณะผู้แทนไทยมาศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ ประเทศเบลเยียม

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 พ.ย. 2567

| 64 view

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะผู้แทนไทยที่เดินทางมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility (EPR)) ในการผลิตและจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะ และนาย Reinhold Elges ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) กรุงบรัสเซลส์ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต โดยมีทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์เข้าร่วมด้วย

การดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (เดนมาร์ก เยอรมนี และเบลเยียม) และสหภาพยุโรปในการบริหารจัดการขยะ การจัดทำและบังคับใช้กฎหมาย EPR รวมถึงประเด็นท้าทายต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในห้วงการพิจารณาออกกฎหมาย EPR

คณะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่หลากหลายและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาออกกฎหมาย EPR อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERIC) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (PRO Thailand Network) โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ)

คณะฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการนำแนวทาง และแนวปฏิบัติที่ดีจากการศึกษาดูงานไปปรับใช้กับกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ... รวมถึงการสร้าง ecosystem ในประเทศ ซึ่งในขณะนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติฯ มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

เอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่คณะฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนที่เป็นผู้เล่นหลักในเรื่อง EPR จะได้นำแนวปฏิบัติที่ดีจากเบลเยียมและสหภาพยุโรปไปปรับใช้กับกระบวนการที่เกี่ยวข้องในประเทศ โดยเห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแกนกลางทางนโยบายของไทยที่จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขับของประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและเบลเยียมได้ โดยย้ำความสำคัญของการทบทวน และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากร และรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

อนึ่ง โครงการนำคณะไทยมาศึกษาดูงานด้าน EPR ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน DEPA สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และ GIZ ประเทศไทย และเป็นความร่วมมือต่อเนื่องระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป กับ GIZ ประเทศไทย จากโครงการเชิญผู้เชี่ยวชาญสหภาพยุโรปเยือนไทยในการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการบรรจุภัณฑ์โดยหลักการ EPR เมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดการประชุมเพื่อขยายผลในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2568

EPR คือหลักการที่ผู้ผลิตจะต้องขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดส่งกระจายสินค้าการรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ