วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ต.ค. 2566

| 3,217 view

ความสัมพันธ์ไทย-ลักเซมเบิร์ก


ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลักเซมเบิร์กดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิด ทั้งในระดับพระราชวงศ์และระดับรัฐบาล โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ อาทิ เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) เจ้าชายกีโยม แกรนด์ดุ๊กรัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก (His Royal Highness Prince Guillaume, Hereditary Grand Duke of Luxembourg)  เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะผู้แทนพระประมุขรัฐเพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) นาย Etienne Schneider รองนายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลักเซมเบิร์ก (ในขณะนั้น) เดินทางเยือนไทยและได้เข้าพบหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมสัมมนากับภาคธุรกิจไทย ในหัวข้อ Business and Investment Opportunities in Luxembourg เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ที่โรงแรมสุโขทัย รวมทั้งร่วมพิธีเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัท Guardian ที่อาคารเอ็มโพเรียม เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) (เป็นบริษัทอเมริกันที่มีสำนักงานใหญ่ภาคพื้นยุโรปตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์ก และดูแลสำนักงานใหญ่ภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย) และล่าสุด นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนลักเซมเบิร์ก และหารือทวิภาคีกับนาย Jean Asselborn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปและรัฐมนตรีว่าการกิจการเข้าเมืองและการลี้ภัยลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

การฉลองครบรอบ ๖๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙)

ปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) เป็นวาระครบรอบ ๖๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลักเซมเบิร์ก โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ได้แก่ ๑) กิจกรรมวันสงกรานต์ร่วมกับวัดไทยพุทธารามในลักเซมเบิร์ก ๒) กิจกรรมทางวัฒนธรรมและได้จัดงานวันชาติเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ซึ่งเป็นการจัดงานวันชาติในรอบ ๓ ปี ที่ลักเซมเบิร์ก โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์กให้เกียรติมาร่วมงาน ๓) นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป เดินทางเยือนลักเซมเบิร์กและได้หารือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีกับนาย Olivier Maes อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์ก
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์ก/ประเทศไทยได้จัด Piano Concert เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตของทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันจัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวด้วย


ด้านเศรษฐกิจ

การค้าการลงทุน

ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั้งสองยังค่อนข้างจำกัด ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) การค้าไทย-ลักเซมเบิร์ก มีมูลค่า ๒๖.๘๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๖๑ ที่มีมูลค่า ๒๓.๘๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยไทยส่งออก ๖.๕๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๒๐.๒๗  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๖๓๗.๓๘  ล้านบาท) ไทยขาดดุลการค้า ๑๓.๗๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้า ได้แก่ แก้วและกระจก หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องจักรกล หลอดไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากลักเซมเบิร์ก ได้แก่ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์สำหรับการลงทุนตรงของลักเซมเบิร์ก จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) มีมูลค่า ๑๖.๑๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัท ได้แก่ Cargolux (อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศ) SES (ดาวเทียม) Arcelor Mittal (อุตสาหกรรมเหล็ก) และ Guardian Glass (อุตสาหกรรมกระจก)

ความร่วมมือด้านการเงิน กองทุน และตลาดหลักทรัพย์

ในช่วงปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๒๐) ความร่วมมือด้านการเงิน กองทุน และตลาดหลักทรัพย์
ไทย-ลักเซมเบิร์ก มีพลวัตสูง โดยสถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทยได้ดำเนินนโยบาย Financial Diplomacy โดยการสนับสนุนการเยือนและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการด้านหลักทรัพย์และกองทุนของไทยกับลักเซมเบิร์กอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสร้าง platform สำหรับหน่วยงานภาคการเงินไทย ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่ง   ประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานคู่ร่วมมือฝ่ายลักเซมเบิร์กด้วย โดยในปี ๒๕๖๓ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน กลต. ได้นำคณะเยือนลักเซมเบิร์กระหว่างวันที่ ๒๘-๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ Commission de Surveillance du Secteur Financier (CSSF) และ Luxembourg Stock Exchange (LuxSE) และล่าสุด สำนักงาน กลต. ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “SDGs Bonds: Finance for a Better Future” (หุ้นกู้เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: หุ้นก็แห่งอนาคต) เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ โดยได้เชิญนาง Julie Becker รองประธานกรรมการบริหารของ LuxSE เข้าร่วมด้วย

 

ด้านการท่องเที่ยว / ภาคประชาชน

ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) นักท่องเที่ยวลักเซมเบิร์กเดินทางมาประเทศไทยจำนวน ๕,๗๙๗ คน (ปี ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) จำนวน ๘,๒๕๐ คน) ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปลักเซมเบิร์กปีละประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ คน ทั้งนี้ ชาวลักเซมเบิร์กที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและสามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน ๓๐ วัน โดยไทยและลักเซมเบิร์กมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ

ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในลักเซมเบิร์กประมาณ ๕๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่สมรสกับชาวลักเซมเบิร์ก เป็นเจ้าของร้านอาหารและร้านจำหน่ายสินค้าไทย ลูกจ้างในร้านอาหาร ทั้งนี้ การติดต่อระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศยังมีอยู่น้อย เนื่องจากลักเซมเบิร์กมิได้เป็นประเทศเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวไทยประกอบกับการไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน

 

สถานะ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๓