วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ต.ค. 2566

| 4,101 view

ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม

ด้านการเมือง

ประเทศไทยกับเบลเยียมมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce between Belgium and Siam) ระหว่างกันเมี่อปี ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘)

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสองเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ดังจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับพระราชวงศ์อย่างต่อเนื่อง ในอดีตและในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา อาทิ การเสด็จฯ เยือนประเทศไทยของสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งชาวเบลเยียม (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร) พร้อมด้วยพระชายา และคณะนักธุรกิจประมาณ ๒๐๐ คน ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ (ค.ศ. ๒๐๑๓)  การเสด็จเยือนเบลเยียมของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อทรงลงพระนามใน Letter of Intent สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับมหาวิทยาลัยเกนต์ เมื่อวันที่ ๕ – ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จเยือนเบลเยียมเพื่อทรงร่วมการแข่งขันขี่ม้ารายการ Prix St. George ณ เมือง Waregem เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙)

ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการพบหารือระดับสูงที่สำคัญ ได้แก่ (๑) วันที่ ๑๘ – ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ ๑๒ และได้พบหารือกับนายชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรป) (๒) วันที่ ๒๑ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร
รองนายกรัฐมนตรี เยือนเบลเยียมเพื่อเยี่ยมชมสถานที่และประชุมร่วมกับผู้บริหาร Tomorrowland รวมถึงรับฟังการบรรยายเรื่องการจัดการบริหารเมืองมรดกโลกโดยนายกเทศมนตรีเมืองบรูจจ์ (Bruges) (๓) วันที่ ๘ – ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เยือนเบลเยียมเพื่อร่วมงานแถลงข่าวกับกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง เกี่ยวกับความสำเร็จของไทยภายใต้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และ (๔) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเบลเยียม เมื่อวันที่ ๓-๖ มีนาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) โดยได้พบหารือกับนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ (Didier Reynders) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปเบลเยียม (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยุโรปด้านยุติธรรม)

ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีกลไกความร่วมมือในระดับการเมือง ได้แก่ (๑) การประชุมหารือด้านการเมือง (Political Consultation) ในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ (๒) กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันสม่ำเสมอ

 

ด้านเศรษฐกิจ

การค้า ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) เบลเยียมเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๓๒ ของไทย/โลก และอันดับที่ ๖ ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๒ ของเบลเยียมในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม ๒,๕๐๕.๖๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๗.๐๗) โดยไทยส่งออก ๑,๕๔๐.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเบลเยียม ๙๖๕.๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า ๕๗๔.๙๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) การค้ารวมมีมูลค่า ๙๙๕.๙๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๒ ร้อยละ ๓.๓๐) ไทยส่งออก ๖๘๖.๖๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๓๐๙.๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๓๗๗.๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า

สินค้านำเข้าจากเบลเยียมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

การลงทุน ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีการลงทุนระหว่างกัน แบ่งเป็น ฝ่ายไทย ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP Belgium – อาหารพร้อมรับประทาน สัตว์ปีกแปรรูป) และบริษัท King Power (ซื้อสโมสรฟุตบอล OH Leuven Football Club เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗)) ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ไทยลงทุนในเบลเยียมเป็นลำดับที่ ๔ ในกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ฝ่ายเบลเยียม ปัจจุบัน มีบริษัทเบลเยียมที่ลงทุนในไทย ประมาณ ๔๐ บริษัท เช่น บริษัท Solvay-Vinythai (ผลิตเคมีภัณฑ์) บริษัท Katoen Natie (โลจิสติกส์) บริษัท Tractebel (ผลิตกระแสไฟฟ้า) บริษัท Ageas (ประกันภัย) บริษัท INVE Aquaculture (อาหารเลี้ยงกุ้งและปลา) บริษัท Antwerp Diamond Cutters (เจียระไนเพชร) บริษัท Harmen (เทคโนโลยีพลังงาน) และบริษัท GLOW (อุตสาหกรรมไฟฟ้า)

 

การท่องเที่ยว / ภาคประชาชน

ในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) มีนักท่องเที่ยวชาวเบลเยียมเดินทางมาไทยจำนวน ๑๑๔,๖๘๒ คน นับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรประมาณ ๑๑.๕๘ ล้านคน (ปี ๒๕๖๒) และมีนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปเบลเยียมประมาณ ๑๗,๕๓๐ คน ทั้งนี้ ชาวเบลเยียมที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและสามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน ๓๐ วัน โดยไทยและเบลเยียมมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ

 

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ปัจจุบันมีชาวเบลเยียมอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนประมาณ ๓,๗๐๐ คน ส่วนใหญ่สมรสกับชาวไทย ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และเป็นผู้รับบำนาญ และมีชาวไทยอาศัยอยู่ในเบลเยียม ๔,๕๗๐ คน วัดไทย ๔ แห่ง ร้านอาหารไทยประมาณ ๑๔๐ ร้าน และร้านนวดแผนไทยประมาณ  ๔๐ ร้าน

อนึ่ง ในวาระครบรอบ ๑๕๐ ปี การลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce between Belgium and Siam) เมื่อปี ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) ฝ่ายไทยได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว ประกอบด้วย (๑) งานสัมมนาในหัวข้อ “The European Union at the Crossroads” ที่กระทรวงการต่างประเทศ (๒) การจัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม ที่ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (๓) การจัดทำแสตมป์ที่ระลึก ขณะที่ฝ่ายเบลเยียม โดยเอกอัครราชทูตเบลเยียมฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรม ได้แก่ (๔) งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำแก่คณะทูต นักวิชาการ นักธุรกิจ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียม (๕) จัดงานเลี้ยงรับรอง (Gala Dinner) ฉลองมิตรภาพ ๑๕๐ ปี ระหว่างไทยกับเบลเยียม เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โดยมี พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ผู้แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นประธานฝ่ายไทย และเจ้าหญิงเลอาแห่งเบลเยียมทรงเป็นประธานฝ่ายเบลเยียม (๖) การประดับธงชาติไทยและเบลเยียมบนสะพานมิตรภาพไทย-เบลเยียม และ (๗) การประดับตัวการ์ตูน Smurf บนรถไฟฟ้า BTS เป็นต้น

 

สถานะ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๓

 

ข้อตกลงที่สำคัญระหว่างประเทศไทยและประเทศเบลเยียมที่ได้ลงนามแล้ว

1. อนุสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามวันที่ 14 มกราคม 2479)
2. หนังสือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามวันที่ 2 ธันวาคม 2502)
3. ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลัมเซมเบิร์ก (ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2522)
4. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก (ลงนามเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 และแลกสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547)
5. สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ซึ่งทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2553)
6. สนธิสัญญาโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ซึ่งทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2553