เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์พบหารือผู้แทนสถาบันเพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายของเบลเยียม

เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์พบหารือผู้แทนสถาบันเพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายของเบลเยียม

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ค. 2567

| 42 view

เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์พบหารือผู้แทนสถาบันเพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายของเบลเยียม
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมด้วย น.ส. พัชรมณฑ์ ศิริวัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา และนายปฐมพงษ์ สิงห์ทอง ที่ปรึกษา/กงสุล ได้พบหารือกับนาง Carine Joly ที่ปรึกษาด้านภารกิจการต่างประเทศ สถาบันเพื่อความเท่าเทียมของหญิงและชาย (Institute for the Equality of Women and Men) เบลเยียม และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจของสถาบันฯ ในการส่งเสริมนโยบายความเท่าเทียมระหว่างเพศในเบลเยียม การขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศในทุกรูปแบบ รวมทั้งการลดช่องว่างหญิง-ชายในการจ้างงาน การต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและการฆาตกรรมสตรี โดยเน้นการช่วยเหลือและคุ้มครองเหยื่อ การบูรณาการประเด็นหญิง-ชายในการกระบวนการตัดสินใจ รวมทั้งการบริหารงบประมาณ และการจัดเก็บสถิติ โดยเป็นสถาบันฯ ระดับรัฐบาลกลางของเบลเยียมที่ดูภาพรวมนโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของเบลเยียมในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น จากอียู องค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) และสภาแห่งยุโรป เป็นต้น อนึ่ง ในช่วงที่เบลเยียมดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (มกราคม - มิถุนายน 2567) ได้ผลักดันการออกกฎหมายต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของอียูในเรื่องนี้
สถาบันเพื่อความเท่าเทียมของหญิงและชาย (Institute for the Equality of Women and Men) เบลเยียม เป็นองค์กรอิสระระดับรัฐบาลกลางเบลเยียม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2002 ตามพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกอียูต้องมีองค์กรอิสระในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยสถาบันฯ แยกตัวออกจากกระทรวงแรงงานเบลเยียม มีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชาย และการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบและความไม่เท่าเทียมที่มีพื้นฐานมาจากประเด็นทางเพศ
สำหรับประเทศไทย มีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ดูแลงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมทั้งเมื่อเดือนมิถุนายน กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่สองในเอเชียที่มีกฎหมายดังกล่าว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ