วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ต.ค. 2567
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ จัด Focus Group Meeting with European Business Stakeholders : A Focus on Trade and Sustainable Development ที่ Brussels Press Club เพื่อหารือกับผู้แทนภาคเอกชนและกลุ่มอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการเจรจาข้อบทการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) โดยมีหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ อาทิ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรฯ สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากรฯ เข้าร่วมด้วย มีผู้เข้าร่วมในห้องประชุมและออนไลน์ มากกว่า 60 คน ผู้เข้าร่วมภาคเอกชน อาทิ จาก European Association for Business and Commerce (EABC) ภาคธุรกิจยานยนต์ ภาคบริการ อาหาร/เครื่องดื่ม และโลจิสติกส์
นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้กล่าวเปิดงานสัมมนา โดยย้ำว่า FTA จะเป็นผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยปัจจุบัน EU เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย และเป็นนักลงทุนอันดับ 6 ซึ่ง FTA จะช่วยเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกัน สำหรับการเจรจาข้อบทการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ไทยและ EU มีค่านิยมร่วมกันที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงเชื่อว่า การเจรจาจะทำให้เกิดการค้าที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเปิดโอกาสให้ไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนามีเวลาปรับตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียวอย่างยุติธรรม
นายพัทธ์กมล ทัตติพงศ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และหัวหน้าคณะเจรจาข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของฝ่ายไทย ได้กล่าวถึงภาพรวมเเละความคืบหน้าในการเจรจา FTA ไทย-อียู เเละเเลกเปลี่ยนประเด็นที่ภาคเอกชนยุโรปให้ความสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้า ความพร้อมของไทยด้านการค้าดิจิทัล แรงงานทักษะ และมาตรฐานเเรงงาน รวมถึงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของไทย
นางสาวสิริบุษย์ อึ๊งภากรณ์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) กล่าวสรุปผลประชุม Focus Group โดยจะนำข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนอียูไปประกอบการเตรียมการสำหรับการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2567 ที่กรุงเทพฯ
อนึ่ง นอกจากการส่งเสริมการเจรจา FTA ไทย-อียู รัฐสภาไทยยังได้มีมติเห็นชอบ “กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย – อียู และรัฐสมาชิก (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement - PCA)” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-อียูด้วย
รูปภาพประกอบ